โรคเบาหวานกับแผลเรื้อรัง




โรคเบาหวานกับแผลเรื้อรังที่เท้าแผลที่เท้า      
ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเกิดแผลที่เท้าและถูกตัดขาได้มากกว่าคนธรรมดาหลายเท่าตัว

สาเหตุของการเกิดแผลที่เท้า 

                สาเหตุนั้นมีด้วยกันหลายองค์ประกอบซึ่งเป็นปัจจัยที่เสริมกันและกัน  การเป็นแผลที่เท้าของผู้ป่วยมักจะเริ่มจากสาเหตุเล็กๆน้อยๆที่สามารถป้องกันได้  หรือบางครั้งอาจเกิดจากอุบัติเหตุเล็กๆน้อยๆที่สามารถป้องกันได้  เช่น  การตัดเล็บเท้าลึกเกินไป  การใส่รองเท้าคับเกินไป เป็นต้น 

ปัจจัยที่ทำให้เกิดแผลที่เท้าจากโรคเบาหวาน 
มีหลายปัจจัยด้วยกันโดยปัจจัยหลักๆได้แก่ 

1.ปลายประสาทเสื่อม  โดยสามารถแบ่งย่อยออกไปอีก 3 ข้อ 
               1.1 ประสาทรับความรู้สึกเสื่อม  ทำให้สูญเสียการรับความรู้สึกเจ็บปวดหรือความรู้สึกร้อนเย็น  ดังนั้นเมื่อเป็นแผลขึ้นแล้วผู้ป่วยมักไม่หยุดใช้เท้าเนื่องจากขาดความรู้สึกเจ็บปวด  แผลจึงเกิดการอักเสบลุลามมากขึ้น 
              นอกจากนั้นเท้าของผู้ป่วยยังมีปัญหาเป็นตาปลาขึ้นได้ง่ายในจุดที่ลงน้ำหนักของเท้า  ซึ่งเป็นการหนาตัวขึ้นของชั้นผิวหนังในบริเวณที่ถูกกดทับมากๆในขณะเดิน  การกดทับตาปลาอาจทำให้เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังถูกทำลายเป็นโพรงที่มีการติดเชื้อและอักเสบแล้วแตกออกเป็นแผล 
             1.2 ประสาทควบคุมกล้ามเนื้อเสื่อม  ทำให้กล้ามเนื้อเล็กๆที่เท้าลีบลง  กล้ามเนื้อที่เท้าไม่อยู่ในสภาพสมดุล  เท้าของผู้ป่วยจึงผิดรูป  นิ้วเท้าจิกลงคล้ายกรงเล็บ  ทำให้จุดรับน้ำหนักผิดไป   มีโอกาสเกิดตาปลาหรือแผลเป็นได้ง่าย 
             1.3 ประสาทอัติโนมัติเสื่อม  ทำให้ระบบประสาทควบคุมเกี่ยวกับการหลั่งเหงื่อ  การหดและขยายตัวของหลอดเลือดเสียไป  ผิวหนังแห้ง  มีเหงื่ออกน้อย  และผิวหนังแตกได้ง่าย  โดยเฉพาะบริเวณที่มีการพับงอบ่อยๆ  เชื้อโรคอาจเข้าไปตามรอยแตกแล้วเกิดเป็นแผลลุกลามมากขึ้น  และยังทำให้เท้าบวม  รองเท้าจึงคับขึ้นและกดเท้าจนเป็นแผลได้ 

2. ความผิดปกติของหลอดเลือด 
                     เนื่องจากเกิดภาวะเส้นเลือดตีบแข็งจนบางครั้งก็อุดตัน  ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งในหลอดเลือดแดงใหญ่และหลอดเลือดฝอย  ทำให้เกิดแผลที่เท้าขึ้นเองได้เนื่องจากเนื้อเยื่อขาดเลือดไปเลี้ยง  ซึ่งจะพบมากที่ปลายนิ้วเท้าทั้งห้าหรือส้นเท้า  ในผู้ป่วยบางรายซึ่งเกิดแผลจากสาเหตุอื่น  เช่น  อุบัติเหตุ  ของมีคม  เล็บขบ  ยุงกัดและการเกา เป็นต้น  การรักษาแผลให้หายเป็นไปได้ยากขึ้น  ทั้งนี้เนื่องจากหลอดเลือดเลือดตีบไม่มีเลือดไปหล่อเลี้ยงเพียงพอ  ทำให้ไม่มีการสมานแผล  การตีบตันของหลอดเลือดในผู้ป่วยเบาหวานไม่ได้เกิดเพียงเฉพาะที่เท้าเท่านั้น  ยังเกิดกับหลอดเลือดอื่นๆด้วย  เช่น หลอดเลือดหัวใจและสมอง  นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสริมที่ทำให้มีการตีบตันเร็วและมากขึ้นอีก  คือการสูบบุหรี่  ไขมันในเลือดสูง  และความดันโลหิตสูง เป็นต้น 
                      หากเราเปรียบเทียบแผลเป็นสมรภูมิรบ  เส้นเลือดเป็นทางลำเลียงเสบียงและอาวุธไปสู่สมรภูมิ  ทางลำเลียงต้องปลอดโปร่งจึงจะสามารถส่งอาวุธหรือยาปฏิชีวนะไปกำจัดข้าศึก หรือฆ่าเชื้อโรคได้เต็มที่  เมื่อปราบข้าศึกได้หมดสิ้นแล้วก็ต้องทำการซ่อมแซมบ้านเมือง  ซึ่งก็ต้องอาศัยทางลำเลียงเดียวกันนี้ขนส่งวัสดุก่อสร้าง  เปรียบได้กับการสมานแผลที่ต้องการอาหารในปริมาณที่เพียงพอ 

3. การติดเชื้อแทรกซ้อน
                      แผลที่เท้าของผู้ป่วยเบาหวานมักจะมีการติดเชื้อร่วมด้วยอยู่เสมอ  โดยเฉพาะการมีเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน  ทำให้การอักเสบลุกลามมากขึ้น  เกิดเส้นเลือดฝอยอุดตันทำให้เนื้อเยื่อที่ขาดเลือดส่งกลิ่นเหม็นเน่าได้  ยิ่งหากมีภาวะแทรกซ้อนทางประสาทและหลอดเลือดด้วยแล้ว  โอกาสที่จะรักษาให้หายยิ่งยากมากขึ้น  ซึ่งเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้ผู้ป่วยต้องถูกตัดขา

การรักษา 
การรักษาแผลที่เท้าแบ่งออกได้เป็น 2 ระยะ
               1.การรักษาเบื้องต้น    เมื่อเป็นแผลจากของมีคมหรือแผลขีดข่วน  ควรล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำอุ่นและสบู่  เช็ดให้แห้งและใส่ยาฆ่าเชื้อ  เช่น เบตาดีนอย่างเจือจาง (น้ำยาเบตาดีน 1 ส่วนต่อน้ำเกลือนอร์มัล 3 ส่วน)  ปิดแผลด้วยผ้าปิดแผลที่แห้งและผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว  ไม่ควรใช้พลาสเตอร์ปิดแผลโดยตรง และไม่ควรใช้ยาฆ่าเชื้อที่มีสีติดผิวหนังซึ่งล้างออกยาก  ถ้าหากแผลบามแดงขึ้นมีน้ำเหลืองออกมา  แม้ว่าจะไม่มีความเจ็บปวดก็ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
                ในบริเวณซอกนิ้วซึ่งอับชื้นอาจเกิดเชื้อราขึ้นได้  จึงควรหมั่นเช็ดให้แห้งและควรเปลี่ยนถุงเท้าบ่อยๆมากกว่า 1 ครั้งต่อวัน  หรือไม่ใส่รองเท้าที่ปิดอับติดต่อกันนานๆ
                 บริเวณที่เป็นตาปลาควรได้รับการตัดออกอย่างสม่ำเสมอ  เพื่อไม่ให้แข็งมากจนทำให้กดเนื้อใต้ผิวหนังเกิดเป็นเนื้อตาย  การตัดตาปลาต้องทำโดยผู้มีความชำนาญ  เช่น  แพทย์หรือพยาบาลเฉพาะทาง  นอกจากนี้อาจต้องทำรองเท้าพิเศษขึ้นเพื่อลดหรือเปลี่ยนจุดลงน้ำหนักของเท้าเพื่อไม่ให้เป็นแผล

                 2.การรักษาโดยแพทย์  ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของแผล  ซึ่งจะมีหลักการใหญ่ๆดังนี้
                 2.1 การทำแผล   หากมีหนองคั่งต้องเปิดแผลให้กว้างเพื่อระบายหนองออก  ตัดเนื้อเน่าหรือเนื้อตายออก ล้างด้วยน้ำเกลือหรือน้ำยาเบตาดีนเจือจาง  แล้วปิดแผลด้วยผ้ากอซชุบด้วยสารละลายข้างต้น  ควรทำแผล 2-4 ครั้งต่อวัน  และรักษาแผลให้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ
                  2.2 การใช้ยาปฏิชีวนะ   จะอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ว่าควรใช้ยาชนิดใดและให้ยาโดยการรับประทาน  หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือหลอดเลือด  โดยแพทย์จะพิจารณาตามลักษณะและความรุนแรงของแผล
                   2.3 การหยุดพักบริเวณที่เป็นแผล  โดยหากเป็นจุดที่ลงน้ำหนักควรนอนพักเฉยๆ  พยายามเดินเท่าที่จำเป็น  หรือสวมรองเท้าที่ทำขึ้นเป็นพิเศษ  เพื่อหลีกเลี่ยงการลงน้ำหนักในบริเวณที่เป็นแผล
                    2.4 การผ่าตัดหลอดเลือด  ในกรณีที่แผลนั้นมีการขาดเลือดเนื่องจากมีเส้นเลือดตีบแข็ง  ในขั้นแรกจะต้องวินิจฉัยโดยการฉีดสีเข้าไปในหลอดเลือดเพื่อดูว่าเส้นเลือดตีบตันหรือไม่  และจะสามารถผ่าตัดให้มีเลือดไปหล่อเลี้ยงบริเวณแผลได้ดีขึ้นหรือไม่  ซึ่งในบางครั้งก็สามารถทำได้และได้ผลค่อนข้างดีถ้าหากอยู่ในการดูแลของแพทย์ที่ชำนาญ  แต่อาการขาดเลือดซึ่งเกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดฝอยนั้นไม่สามารถผ่าตัดแก้ไขได้
                      2.5 การผ่าตัดเท้าทิ้ง  จะทำต่อเมื่อไม่สามารถรักษาแผลด้วยวิธีที่กล่าวมาแล้วให้ได้ผล  ระดับที่ผ่าตัดจะอยู่ใต้เข่าหรือเหนือเข่าขึ้นอยู่กับแผล  หลังการผ่าตัดแล้วสามารถประกอบขาเทียมได้  ทำให้ผู้ป่วยเดินและเคลื่อนใหวได้ดังเดิม จะเห็นได้ว่าการรักษาแผลที่เท้านั้นนอกจากทำให้เกิดผลเสียทางด้านจิตใจแล้วยังเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากตามมา  ดังนั้นการป้องกัน  และการรักษาให้ถูกต้องที่ต้นเหตุของการเกิดโรค  คือการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด  ระดับไขมันในเลือด และควบคุมความดันโลหิตให้ดี  จึงเป็นวิธีที่การที่สำคัญที่สุดที่สามารถลดโอกาสการเกิดแผลเรื้อรังจากเบาหวานได้ดีที่สุด  

การป้องกัน
◦ควบคุมเบาหวานให้ดีที่สุด 
◦งดการสูบบุหรี่
◦ออกกำลังกายโดยสม่ำเสมอ
◦ควบคุมไขมันในเลือดไม่ให้สูงเกินปกติ
◦รักษาโรคความดันโลหิตสูงให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดการบริโภคเกลือ
◦ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ 

การดูแลเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน 
1.ควรแช่เท้าในน้ำอุ่นอาทิตย์ละ 2 ครั้ง  ครั้งละ 15- 30 นาที เพื่อกระตุ้นให้หลอดเลือดขยายตัวเพื่อไปเลี้ยงปลายเท้า 
2.ควรใช้โลชั่นชนิดที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนังทาเท้าทุกวัน  เพื่อทำให้เท้าชุ่มชื้นอยู่เป็นประจำ  ไม่ทำให้เกิดการแห้งแตก อันเป็นที่มาของแผลต่างๆ 
3.ควรสวมถุงเท้าเป็นประจำ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้แก่เท้า  และป้องกันแผลที่เกิดจากการขีดข่วนต่างๆ 
4.ควรหมั่นตรวจเท้าทุกวันเพื่อดูแลความสะอาด  
และป้องกันการเกิดแผลที่เท้า

ขอบคุณข้อมูลจาก Internet