แผล คือ


              


 "แผล" 


              ร่างกายของเราต้องได้รับการดูแลอย่างเป็นพิเศษ สิ่งหนึ่งที่สำคัญซึ่งไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง หรือผุ้ชาย ย่อมเกิดความกังวลใจเป็นแน่ หากเกิดบาดแผลขึ้นกับตัวของเราเอง เราจะมีวิธีการอย่างไรดูแลแผลที่เกิดขึ้น จะใช้ยาอะไร รักษาอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ แต่ก่อนที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับการรักษา เราต้องทราบก่อนว่า แผล คืออะไร  ประเภทของแผล แยกเป็นอย่างไรได้บ้าง  แล้วถ้าหากแยกเป็นประเภทออกไป จะมีอะไรบ้าง แล้วแผลที่เกิดขึ้นบนร่างกายของเราแผลของคนที่อยู่รอบตัวเรา  แผลของคนที่เรารัก เราจะดูแล และรักษาแผลนั้นได้อย่างไร ไปติดตามดูกันเลยดีกว่าค่ะ


                เนื่องจากแผลหรือบาดแผลเกิดได้จากหลายสาเหตุ และมีลักษณะแตกต่างกัน จึงสามารถจำแนกบาดแผลออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้หลายวิธี ดังนี้


1. ตามความสะอาดของแผล ได้แก่
           1.1 แผลสะอาด (clean wound) หมายถึง แผลที่ไม่มีการติดเชื้อหรือแผลที่เคยปนเปื้อน เชื้อแล้ว แต่ได้รับการดูแลจนแผลสะอาดไม่มีการติดเชื้อ เนื้อเยื่อของแผลเป็นสีชมพูอมแดง ไม่มีลักษณะของการอักเสบบวมแดง หรือแผลที่เกิดจากการวางแผนล่วงหน้า เพื่อการตรวจรักษา มีการควบคุมภาวะปราศจากเชื้อ เช่น แผลผ่าตัด แผลเจาะหลัง แผลให้น้ำเกลือ
          1.2 แผลปนเปื้อน (contaminated wound) หมายถึง แผลเปิดที่เริ่มมีการอักเสบปวด บวม แดง ร้อน อาจมีสิ่งขับหลั่งเป็นน้ำเลือดหรือน้ำเหลือง มีโอกาสติดเชื้อสูง เช่น แผลถลอก แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลถูกรังสี แผลถูกกรด-ด่าง ไฟฟ้าช็อตหรือแผลผ่าตัดผ่านบริเวณที่มีการอักเสบ ปนเปื้อน เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร อวัยวะสืบพันธุ์ ทางเดินปัสสาวะ ใส่ท่อระบาย เช่น แผลเปิด ลำไส้ใหญ่ ถุงน้ำดีอักเสบ เป็นต้น
          1.3 แผลติดเชื้อ (infected wound) หมายถึง แผลที่มีการอักเสบลุกลามเป็นบริเวณกว้าง จากการติดเชื้อมีสิ่งแปลกปลอมหรือปนเปื้อนมาก อาจมีสิ่งขับหลั่งเป็นหนอง ช้ำเลือดช้ำหนองหรือเนื้อเยื่อตาย ส่วนใหญ่เป็นแผลที่เกิดจากอุบัติเหตุ


2. ตามลักษณะการฉีกขาดของผิวหนัง 
          2.1 แผลปิด (closed wound) หมายถึง บาดแผลที่ผิวหนังหรือเยื่อบุไม่ฉีกขาดออกจากกัน แต่เนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ผิวหนังได้รับบาดเจ็บ มีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อและหลอดเลือดฝอยบริเวณนั้น ทำให้เลือดออกมาคั่งรวมกันเป็นก้อน (hematoma) ทำให้เกิดการเจ็บปวด มักเกิดจากการกระแทก ถูกดึงรั้งหรือถูกกระตุกอย่างแรง เช่น แผลฟกช้ำ (contusion bruise) กระดูกหักโดยไม่มีแผลภายนอก แผลไหม้พอง สมองได้รับความกระทบกระเทือน (concussion of brain) เป็นต้น 
          2.2 แผลเปิด (opened wound) หมายถึง แผลที่ผิวหนังบางส่วนฉีกขาดออกจากกัน ได้แก่
                 2.2.1 แผลถลอก (abrasion) ลักษณะแผลตื้น มีรอยเปิดเพียงชั้นนอกของผิวหนัง หรือเยื่อบุ มีเลือดซึมเล็กน้อย สาเหตุเกิดจากอุบัติเหตุ ถูกขีด ข่วน หรือลื่นไถลบนพื้นหยาบขรุขระ 
                 2.2.2 แผลฉีกขาด (laceration wound) ลักษณะแผลผิวหนังบริเวณขอบแผลฉีกขาด กระรุ่งกระริ่ง และมีการทำลายของเนื้อเยื่อแผลมาก แผลอาจลึก เสี่ยงต่อการติดเชื้อ สาเหตุเกิดจาก อุบัติเหตุ เช่น รถล้ม หกล้ม ถูกของมีคมเกี่ยว ถูกสะเก็ดระเบิด (explosive wound) แผลถูกบดขยี้ (cursh wound) เช่น จากเครื่องจักรบด เป็นต้น 
                 2.2.3 แผลถูกตัด (incision wound) ลักษณะแผลขอบแผลจะเรียบซึ่งเกิดจากของ มีคมผ่านผิวหนังเข้าไป เช่น ถูกมีดบาด แผลถูกแทง (puncture wound) ลักษณะแผล ปากแผลแคบลึก ซึ่งเกิดจากวัตถุ มีคมปลายแหลมทะลุผ่านผิวหนังเข้าไป เช่น แผลตะปูตำ ถูกมีดแทง แผลลักษณะนี้จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคที่ไม่ใช้ออกซิเจน เช่น เชื้อบาดทะยัก 
                 2.2.4 แผลทะลุทะลวง (penetration wound) ลักษณะแผลมีการฉีกขาดและการบดทำลายของเนื้อเยื่อ ซึ่งเกิดจากวัตถุแทงทะลุผ่านผิวหนังเข้าไปถึงเนื้อเยื่อที่อยู่ลึก ๆ หรืออวัยวะภายใน ทำให้มีการตกเลือด เช่น แผลถูกยิง (gun shot wound) กระสุนวิ่งผ่านเยื่อบุผิวหนัง และเนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ ผิวหนัง ทำให้เกิดการฉีกขาด (laceration) การบดทำลาย (crushing) เกิดคลื่น (shock wave) และเกิดช่องว่างชั่วคราว (temporary cavitation) ตามที่แนวกระสุนผ่านไป ซึ่งเกิดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเร็วของกระสุน 


3. ตามระยะเวลาที่เกิดแผล 
                3.1 แผลสด หมายถึง แผลที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม เช่น แผลถูกมีดบาด แผลผ่าตัด เป็นต้น 
                3.2 แผลเรื้อรัง หมายถึง แผลที่มีการติดเชื้อและทำลายเนื้อเยื่อมักเรียกว่า ulcer มีการตาย ของเนื้อเยื่อ (sloughing or shedding) ซึ่งเรียกว่า เนื้อตาย (necrotic tissue) และมีสิ่งขับหลั่งจากการอักเสบของแผลเป็นหนอง (purulent exudate) แผลจะหายช้าและการดูแลรักษายุ่งยากซับซ้อน ได้แก่ 
                       3.2.1 แผลกดทับ (pressure sore) เกิดจากหลอดเลือดฝอยที่ไปเลี้ยงเนื้อเยื่อและ ผิวหนังบริเวณนั้นถูกกดทำให้เนื้อเยื่อและผิวหนังขาดเลือดและออกซิเจนจึงเกิดการตายของเนื้อเยื่อบริเวณที่เกิดแผลกดทับได้มากที่สุด คือ ก้นกบ (sacrum) รองลงมา ได้แก่ สะโพก ส้นเท้า ข้อศอก เข่า ข้อเท้า 
                       3.2.2 แผลที่เกิดจากการฉายรังสีเพื่อการรักษา ทำให้เนื้อเยื่อที่ได้รับรังสีอ่อนแอ 
                       3.2.3 แผลเนื้อเน่า (gangrene) เป็นแผลที่เกิดจากการขาดเลือดมาเลี้ยงหรือเลือดมา เลี้ยงไม่เพียงพอ (venous insufficientcy) พบบ่อยจากหลอดเลือดตีบแข็ง เช่น ในผู้ป่วยเบาหวาน มักใช้เรียกแผลที่เป็นบริเวณอวัยวะส่วนปลาย เช่น แขน ขา นิ้วมือ-เท้า ไส้ติ่ง เป็นต้น พบได้ 2 ชนิดคือ dry gangrene เป็นแผลเนื้อตายแห้งดำ มีกลิ่นเหม็นไม่รู้สึกเจ็บปวด ส่วนที่เป็นเนื้อเยื่อหรือข้ออาจหลุดได้ง่าย และ wet gangrene เป็นแผลเน่าและมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ คลำแผลได้ยินเสียงกรอบเกรบ มีสิ่งขับหลั่งจากแผลตลอดเวลา


ขอขอบคุณ  ข้อมูลดีๆ จาก student.mahidol  และภาพจาก Internet